หน่วยทรัพย์สินทางปัญญา ดูทั้งหมด
หน่วยทรัพย์สินทางปัญญา (TLO)
หน่วยทรัพย์สินทางปัญญา (Technology Licensing Office: TLO) ขึ้นอยู่ภายใต้การบริหารงานของสถาบันวิจัยและพัฒนา ภายในงาน Enterprise Linkage Center (ELC) เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อนุญาตให้ใช้สิทธิและนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ และเตรียมความพร้อมทรัพย์สินทางปัญญาสู่ภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การพัฒนาระบบและกลไกขีดความสามารถของหน่วยทรัพย์สินทางปัญญา (Technology Licensing Office: TLO) ให้เข้มแข็งเพื่อ Licensing นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเพิ่มรายได้ให้มหาวิทยาลัยสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและชุมชนเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ สร้างความเข้มแข็งแก่ระบบวิจัยของประเทศ
โดย TLO ดูแลในส่วนงาน ดังนี้
- งานส่งเสริมคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและบัญชีนวัตกรรม
- งานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
- งานอนุญาตให้ใช้สิทธิและนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์
- งานเตรียมความพร้อมทรัพย์สินทางปัญญาสู่ภาคอุตสาหกรรม
ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้น หรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึงถึงชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีในการแสดงออก ทรัพย์สินทางปัญญาอาจแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่าง ๆ หรือในรูปของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ กรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial property) และลิขสิทธิ์ (Copyright)
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์นี้อาจเป็นความคิดในการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งอาจจะเป็นกระบวนการหรือเทคนิคในการผลิต ที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นใหม่ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างของตัวผลิตภัณฑ ได้แก่ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า ความลับทางการค้า แผนผังภูมิของวงจรรวม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะกระทำการใดๆ กับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกในรูปแบบอย่างใด โดยประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ งานวรรณกรรม งานนาฏกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานสิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดงด้วย ทั้งนี้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุมถึงความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้ วิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์